Saturday, January 28, 2017

เชิญเลือกเมนู สำหรับการชมวีดิทัศน์เพื่อการศึกษา

เชิญเลือกชมตามหัวข้อด้านซ้ายมือ นะครับ

ทฤษฎีคืออะไร
            ทฤษฎีเกิดขึ้นได้เพราะคนเรามีความสนใจในปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัวและขณะที่สังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้น ก็เกิดความคิดเบื้องต้น (assumption) เกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นขึ้น ความคิดเบื้องต้นนี้ เกิดขึ้นจากการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ประกอบกับความคิดอุปนัย (induction) และความคิดนิรนัย (deduction) ของคนขณะที่สังเกตปรากฏการณ์เหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ขณะที่นิวตันเห็นลูกแอปเปิ้ลตกลงมาจากต้นแอปเปิ้ลสู่พื้นดิน เขาได้เกิดความคิดขึ้นว่า น่าจะมีอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกันระหว่างวัตถุกับโลก เขาจึงตั้งทฤษฎีขึ้นมาว่า วัตถุตกลงมายังพื้นโลก เพราะแรงดึงดูดของโลก ซึ่งทฤษฎีนี้สามารถนำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์อื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า เขาใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความคิดอุปนัย นิรนัย ในการสร้างเป็นทฤษฎีขึ้นมาได้ เพราะคนธรรมดาอีกหลายล้านคน เห็นเหตุการณ์ในทำนองเดียวกัน แต่ไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ก็ไม่อาจเกิดความคิด จนสร้างเป็นทฤษฎีขึ้นมาได้ (ทิศนา  แขมมณี, 2552 : 40)
            อย่างไรก็ตาม เมื่อคนเกิดความคิดเบื้องต้นขึ้นมาแล้ว ความคิดนั้นอาจจะได้รับการยอมรับหรือไม่ได้รับการยอมรับก็ได้ ความคิดมักจะได้รับการยอมรับ ถ้ามีหลักฐานหรือสามารถพิสูจน์ทดสอบให้เห็นจริงได้ ดังนั้น เมื่อเกิดความคิดเบื้องต้นขึ้นมาแล้ว ผู้คิดค้นจึงจำเป็นต้องไปแสวงหาหลักฐานที่จะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องยืนยันความคิดนั้น ความคิดต่างๆ ที่มีหลักฐานยืนยันพอสมควรและสามารถนำไปพิสูจน์ทดสอบได้นี้เรียกกันว่าเป็นสมมติฐาน (hypothesis) (ทิศนา  แขมมณี, 2552 : 40)
            เมื่อมีสมมติฐานพร้อมที่จะนำไปทดสอบไว้แล้ว ผู้ค้นคิดทฤษฎีจะพยายามทำการทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ ความคิดใดที่สามารถนำไปพิสูจน์ทดสอบได้มาก และเห็นผลชัดเจนจะจัดเป็นทฤษฎีในระดับสูง ความคิดใดที่ผ่านการทดสอบ พิสูจน์ให้เห็นจริงหรือให้เห็นผลชัดเจนไม่ได้หรือได้ยาก ก็จัดเป็นทฤษฎีในระดับที่ต่ำลงมา (ทิศนา  แขมมณี, 2552 : 40)
            เมื่อทำการทดสอบสมมติฐานจนเป็นที่พอใจแล้ว ผู้คิดค้นก็จะนำความคิดเบื้องต้นมาจัดทำหรือเขียนเป็นทฤษฎีขึ้น แต่โดยทั่วไปแล้วการสรุปผลจากการทดสอบนั้น ผู้สรุปจะสรุปให้กว้างเกินไปจากข้อมูลที่ได้ โดยใช้ความคิดนิรนัยหรืออุปนัยของตนเข้าไปประกอบด้วย ดังนั้นทฤษฎีที่ตั้งขึ้น จึงมีลักษณะกว้าง ไม่ใช่กล่าวเฉพาะเจาะจงสถานการณ์ในสถานการณ์หนึ่งเท่านั้น (ทิศนา  แขมมณี, 2552 : 40)
            ทฤษฎีที่ตั้งขึ้นนี้ จะถือว่าเป็นทฤษฎีได้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) จะต้องสามารถอธิบายความจริงหลักของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ (2) จะต้องสามารถนิรนัยความจริงหลักนั้นออกมาเป็นกฎหรือความจริงอื่นๆ ได้ และ (3) จะต้องสามารถทำนายปรากฏการณ์นั้นได้ ดังนั้นในกรณีที่เราเกิดความสงสัยว่า ข้อความหรือทฤษฎีที่เราพบมีลักษณะเป็นทฤษฎีหรือไม่นั้น ก็สามารถตรวจสอบได้โดยเทียบกับคุณสมบัติทั้ง 3 ข้อดังกล่าว หากข้อความนั้น สามารถตอบคำถามทั้ง 3 ข้อได้ จึงจะถือได้ว่าข้อความนั้นเป็นทฤษฎี (ทิศนา  แขมมณี, 2552 : 40-41)

            โดยปกติทั่วๆ ไปแล้ว ข้อความที่เป็นทฤษฎีจะกล่าวบรรยายถึงปรากฎการณ์ใดปรากฎการณ์หนึ่ง และให้คำอธิบายปรากฎการณ์นั้นรวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ในปรากฎการณ์นั้น ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพรรณนาหรือบรรยาย (description) ข้อความจริงต่างๆ ให้เป็นที่เข้าใจ หรือนำใช้ในการอธิบาย (explanation) ปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังสามารถนำไปใช้ในการทำนาย (prediction) ปรากฎการณ์นั้นได้ด้วย (ทิศนา  แขมมณี, 2552 : 41)

ตัวอย่างวีดิทัศน์